หลังจากที่ได้เปิดตัวบริการ Microsoft 365 Copilot ไปเมื่อต้นปีนี้ เพื่อนำความสามารถของ AI อันทรงพลังมาเสริมศักยภาพของแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้หลายล้านคนในทุกวันอย่าง Microsoft Word, Excel, PowerPoint, Outlook, Microsoft Teams และอื่นๆ อีกมากมาย

ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเดินหน้าขยายให้ลูกค้าทั่วโลกได้มีโอกาสทดลองใช้งาน Microsoft 365 Copilot กันมากขึ้น และยังได้ถือโอกาสนี้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัย Work Trend Index ฉบับล่าสุดประจำปี 2023 ที่เจาะลึกถึงมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตการทำงานยุค AI  ภายใต้หัวข้อ Will AI Fix Work?

msft_wti-annual_hero

รายงาน Work Trend Index 2023 นี้ รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คนในอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุม 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและตลาดอื่นๆ อีก 13 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  และยังประมวลข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากอีเมล การประชุมออนไลน์ และระบบแชทใน Microsoft 365 รวมทั้งแนวโน้มตลาดแรงงานจาก LinkedIn โดยข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่าการทำงานในปัจจุบันต้องการความรวดเร็วในระดับที่เกินกว่าพนักงานจะตามทัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถของพวกเขาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับองค์กร ดังนั้น เทคโนโลยี AI รุ่นใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และองค์กรที่ริเริ่มนำ AI มาใช้จะช่วยให้พนักงานหลุดออกจากวงจรการทำงานแบบเดิมๆ มีเวลาไปใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมกัน

สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “การมาถึงของ AI ส่งผลให้วิธีการทำงานของเราต้องเปลี่ยนไปในทุกด้าน จากเดิมที่มีระบบอัตโนมัติทั่วไปในการทำงาน มาเป็นระบบผู้ช่วยที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาด ทำให้พนักงานหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Digital Debt’ หรือภาระงานที่เกิดขึ้นจากการโต้ตอบกันทางอีเมล แชท และประชุม จนไม่สามารถไปคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้”

“ในเมื่อการทำงานเปลี่ยนไปเพราะ AI คนทำงานก็ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเช่นกัน พนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมองว่า AI เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา โดยรายงาน Work Trend Index 2023 ระบุว่าพนักงานไทยถึง 86% ยินดีที่จะมอบหมายให้ AI ทำงานแทนให้ได้มากที่สุดเพื่อลดภาระงานลง ดังนั้น ผู้บริหารในยุคนี้จึงมีทั้งโอกาสและแรงผลักดันให้ต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อลดความจำเจในการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับความเชี่ยวชาญด้าน AI ไปพร้อมๆ กัน” คุณสุภาณีกล่าวเสริม

รายงาน Work Trend Index 2023 ชี้ให้ผู้นำธุรกิจเห็นถึงข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประการใหญ่ๆ ในการทำความเข้าใจและนำ AI มาใช้ในองค์กรอย่างถูกต้องเหมาะสม

“Digital Debt” ยับยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่: พนักงานทุกคนล้วนมีภาระในโลกดิจิทัลของที่ทำงาน เพราะเรามีข้อมูล อีเมล และแชทปริมาณมหาศาลตลอดวันจนไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจได้ในทุกส่วน ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นโอกาสในการทำให้การสื่อสารมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะยิ่งเสียเวลาไปกับภาระ digital debt เหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พนักงานไม่มีเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น พนักงานในประเทศไทย 89% รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีเวลาและพลังงานมากพอที่จะทำงานให้เสร็จ และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเจอกับอุปสรรคเมื่อต้องลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยตัวเอง ขณะที่ข้อมูลเวลาทำงานใน Microsoft 365 ชี้ว่าโดยเฉลี่ย พนักงานใช้เวลาทำงาน 57% ไปกับการติดต่อประสานงาน และเพียง 43% ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ส่วนอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ขัดขวางประสิทธิผลในการทำงานก็คือการประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ

AI พร้อมเป็นพันธมิตรคู่ใจคนทำงาน: พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับบทบาทของ AI ในการแบ่งเบาภาระงาน มากกว่าที่จะกังวลว่าตนเองจะถูกแทนที่จนตกงาน ส่วนผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มีความตั้งใจที่จะนำ AI มาสนับสนุนพนักงานให้ทำงานได้ดีขึ้น แทนที่จะนำมาทำงานแทนมนุษย์ สำหรับในประเทศไทย เราพบว่า 66% ของพนักงานที่เข้าร่วมการสำรวจยังมีความกังวลว่าจะถูก AI แย่งงาน แต่ก็มีถึง 86% ที่พร้อมจะแบ่งงานให้ AI ช่วยให้ได้มากที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระงาน นอกจากนี้ พนักงานไทยราว 9 ใน 10 คนมั่นใจว่าพร้อมแบ่งงานที่ซับซ้อน เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ให้ AI เข้ามาช่วยทำ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานเอกสารหรือธุรการทั่วไป ส่วนในระดับผู้บริหาร พบว่ามีกลุ่มที่สนใจนำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพในที่ทำงานเป็นจำนวนที่สูงกว่ากลุ่มที่มุ่งลดจำนวนพนักงานด้วย AI ราวหนึ่งในสาม

พนักงานทุกคนต้องเชี่ยวชาญ AI: พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ความสามารถในด้านใหม่ๆ เช่น การวางโครงสร้างและเขียนคำสั่งสำหรับ AI (prompt engineering) แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน AI เท่านั้น ผู้บริหารในไทยกว่า 90% คาดว่าพนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในยุค AI ขณะที่พนักงานไทย 86% ระบุว่าพวกเขา ยังขาดความสามารถที่เหมาะสมในการทำงานให้สำเร็จ ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญด้าน AI จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน พร้อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นับตั้งแต่แนวทางการเขียนเรซูเม่ไปจนถึงประกาศรับสมัครงาน

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศโครงการ Microsoft 365 Copilot Early Access เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ 600 รายทั่วโลกได้มีโอกาสใช้งาน AI ในภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เพิ่มความสามารถใหม่ๆ ให้กับ Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Viva ดังต่อไปนี้

  • Copilot ใน Whiteboard จะช่วยให้การประชุมและระดมความคิดผ่าน Microsoft Teams เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสามารถถาม Copilot ให้ช่วยเสนอแนวคิด จัดระบบไอเดียต่างๆ ให้เป็นกลุ่มชัดเจน สร้างสรรค์งานออกแบบที่สะท้อนถึงแนวคิดนั้นๆ และสรุปเนื้อหาที่เขียนลงใน Whiteboard ได้
  • เพิ่มระบบสร้างรูปภาพ DALL-E ของ OpenAI ใน Copilot ของ PowerPoint เพื่อให้ผู้ใช้สามารถขอให้ Copilot สร้างสรรค์ภาพใหม่ๆ ขึ้นมาประกอบกับเนื้อหาในหน้าสไลด์
  • Copilot ใน Outlook มาพร้อมคำแนะนำในการเขียนอีเมลให้มีเนื้อหาชัดเจน พร้อมด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ที่เหมาะสม เพื่อการสื่อสารอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • Copilot ใน OneNote พร้อมรับคำสั่งมาช่วยร่างแผน เสนอแนวคิด สร้างรายการ และจัดระเบียบข้อมูล เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

Copilot ใน Viva Learning ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างแผนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของตนเองมากที่สุด ผ่านการสนทนากับ AI โดยระบบนี้จะรองรับทั้งการวางโครงสร้างหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนทักษะ การค้นหาแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน หรือแม้แต่การจัดตารางเวลาฝึกอบรมตามที่ได้รับมอบหมาย

istock-1469747610

และเพื่อให้ทุกองค์กรมีความพร้อมในการใช้งาน AI มากยิ่งขึ้น ไมโครซอฟท์ยังได้พัฒนาระบบ Semantic Index for Copilot ที่เริ่มเปิดให้ลูกค้า Microsoft 365 E3 และ E5 ทุกรายได้ใช้งาน โดยระบบนี้สามารถทำความเข้าใจกับระบบข้อมูลและโครงสร้างบุคลากรขององค์กร เพื่อประกอบเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ AI ใน Microsoft 365 Copilot เข้าใจคำสั่งที่ได้รับอย่างชัดเจน และนำเสนอคำตอบหรือผลงานที่ถูกต้อง เหมาะสม พร้อมใช้งานกว่าที่เคย

นอกเหนือจากความสามารถใหม่ๆ ทั้งหมดนี้แล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศเปิดตัวคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในงาน Build 2023 ดังนี้

  • Bing Chat, Microsoft 365 Copilot และบริการ AI copilot อื่นๆ จะรองรับมาตรฐานแบบเปิดสำหรับปลั๊กอินในรูปแบบเดียวกับ ChatGPT ของ OpenAI เช่นในกรณีของ Microsoft 365 Copilot ที่สามารถทำงานร่วมกับปลั๊กอินได้ในสามประเภทหลักๆ ได้แก่ ส่วนขยายสำหรับการใช้งานแบบข้อความทาง Microsoft Teams, ตัวเชื่อมต่อกับ Power Platform และปลั๊กอินอื่นๆ ของ ChatGPT รวมถึงปลั๊กอินจากพันธมิตรของไมโครซอฟท์อย่าง Atlassian, Adobe และอื่นๆ
  • Windows Copilot จะทำให้ Windows เป็นแพลตฟอร์มแรกบนพีซีที่พร้อมมอบระบบผู้ช่วย AI แบบรวมศูนย์ ช่วยให้ผู้ใช้ทำงาน ปรับแต่งการตั้งค่า และเชื่อมต่อกับแอปโปรดของคุณได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับปลั๊กอินเช่นเดียวกับ Bing Chat และ ChatGPT
  • Microsoft Fabric เป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลแบบครบวงจรที่จะช่วยให้องค์กรปลดล็อกศักยภาพของข้อมูลและวางรากฐานสำหรับยุคแห่ง AI ขณะที่ Azure AI Studio ช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำโมเดล AI มาทำงานร่วมกับข้อมูลของตนเองหรือองค์กรได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างประสบการณ์และความเข้าใจในข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Official Microsoft Blog, Microsoft 365 Blog, รายงานดัชนีแนวโน้มการทำงานปี 2023 หรือ Work Trend Index และศูนย์ข้อมูลข่าวสารจากงาน Build 2023

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
Apple เปิดตัว ชิพ Apple M1 ชิปใหม่สำหรับ Mac รุ่นแรก
ของมันต้องมี”Apple Watch SE 2, Apple Watch Series 8″ และ “Apple Watch Ultra” สั่งซื้อได้แล้ววันนี้
เมื่อหน้าจอ “Samsung Galaxy Fold” พังหลังใช้งานได้ 1 วัน

Leave Your Reply

*