ในวันที่ 2 ของงาน Intel Innovation ทางอินเทลได้ประกาศความพยายามและความพร้อมของบริษัทฯในการลงทุนเพื่อส่งเสริมทรัพยากรระบบนิเวศแบบเปิด (Open Ecosystems) เพื่อเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนนักพัฒนา ตั้งแต่ซิลิคอน ระบบเทคโนโลยี ไปจนถึงแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ในทุกระดับ

อินเทล มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือนักพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเสริมสร้างความสามารถของนักพัฒนาที่จะเข้าใจและเข้าถึงศักยภาพของตนให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผ่านการขยายแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และโซลูชันต่าง ๆ โดยอินเทลได้นำเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ ในการสนับสนุนนักพัฒนาด้านการพัฒนา AI การรักษาความปลอดภัย และการประมวลผลแบบควอนตัม พร้อมทั้งประกาศรายชื่อกลุ่มลูกค้ารายแรกที่ได้นำนวัตกรรมระบบรักษาความปลอดภัย Project Amber ใหม่นี้ไปใช้ด้วย

นายเกร็ก ลาเวนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของอินเทล กล่าวว่า “เรากำลังวางแผนกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์เป็นอันดับแรก ด้วยการเสริมศักยภาพของทรัพยากรระบบนิเวศแบบเปิดซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรายังเป็นสมาชิกที่มุ่งมั่นของชุมชนนักพัฒนา ตลอดจนความเชี่ยวชาญเชิงลึกและแพร่หลายด้านสินทรัพย์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของเรายังช่วยขยายโอกาสให้กับทุกคนผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน”

ขับเคลื่อนขุมพลังให้แก่นักพัฒนาด้วยระบบที่เปิดกว้าง

อีกหนึ่งหัวข้อสำคัญของงาน Intel Innovation ที่จัดขึ้นเป็นวันที่สองเพื่อชุมชนนักพัฒนานั้น นายลาเวนเดอร์ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอินเทลในเรื่องระบบนิเวศที่เปิดกว้าง การเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับโซลูชันยุคใหม่ และการอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ โดยเริ่มต้นจากชุดเครื่องมือ oneAPI ซึ่งเป็นโมเดลการเขียนโปรแกรมที่อิงมาตรฐานที่เปิดกว้างและครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม

ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถเลือกสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่พวกเขาพยายามหาทางแก้ไขอยู่ จากความคืบหน้าในการต่อยอดการใช้งาน oneAPI อินเทลยังได้กำหนดทิศทางการใช้งาน oneAPI ในอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของนักพัฒนา ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ ห้องปฏิบัติการระดับประเทศ นักวิจัย และผู้จำหน่ายซิลิคอนได้อย่างตรงจุด

บริษัท Codeplay เป็นบริษัทในเครือของอินเทลที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการขับเคลื่อนมาตรฐานแบบเปิด (มาตรฐานที่เปิดให้นำไปใช้ ปรับใช้ และอัปเดตได้อย่างอิสระ) รวมถึงการให้บริการการใช้งานข้ามแพลตฟอร์มของเครื่องมือ SYCL และ oneAPI โดยปัจจุบัน Codeplay จะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนาชุมชน oneAPI ต่อไป

อินเทลจะยังคงส่งมอบเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาและคู่มือตามข้อมูลจำเพาะของ oneAPI อย่างต่อเนื่อง โดยชุดเครื่องมือ Intel oneAPI 2023 จะจัดส่งภายในเดือนธันวาคมพร้อมการรองรับสถาปัตยกรรม CPU, GPU และ FPGA ใหม่ล่าสุด ซึ่งรวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องมือ SYCLomatic แบบโอเพนซอร์ส (โมเดลการผลิตแบบเสรีที่อนุญาตให้ทุกคนปรับแต่งและแบ่งปันเทคโนโลยีได้) โดย SYCLomatic จะทำหน้าที่ช่วยแปลงซอร์สโค้ด CUDA ให้เป็นซอร์สโค้ด SYCL และถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับนักพัฒนาในการพัฒนาสถาปัตยกรรมการประมวลผล

นอกจากนี้ อินเทลยังได้ประกาศรายชื่อสถาบันการศึกษาและการวิจัยเพิ่มอีก 6 แห่ง ที่ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน OneAPI (oneAPI Centers of Excellence) เพื่อขยายการสนับสนุนชุดเครื่องมือ oneAPI ที่เป็นอินเทอร์เฟซสำคัญของการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชันและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของศูนย์ความเป็นเลิศด้าน oneAPI ได้แก่  School of Software and Microelectronics of Peking University ประเทศจีน, Science and Technology Facilities Council ประเทศอังกฤษ, School of Software and Microelectronics of Peking University ประเทศอิสราเอล,  University of Utah in collaboration with Lawrence Livermore National Laboratory (LLNL) ประเทศสหรัฐอเมริกา,  University of California San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Zuse Institute Berlin ประเทศเยอรมนี

สำหรับนักพัฒนาที่ต้องการสร้างโซลูชัน AI ใหม่ที่มีความรวดเร็ว ประสิทธิภาพสูง และมีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม อินเทลได้เปิดตัวชุด AI ในการดูแลสุขภาพเพิ่มอีก 3 ชุด ที่จะเข้ามาช่วยดูแลระบบเอกสารแบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์โรคในอนาคต และการดูภาพทางรังสีวินิจฉัย โดยนักพัฒนาสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของชุด AI ที่เพิ่งเปิดตัวไปจำนวน 3 ชุดนี้ และอีก 4 ชุดที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้าเมื่อเดือนกรกฎาคมได้ที่ GitHub

นายลาเวนเดอร์ กล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือการส่งมอบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดผ่านระบบนิเวศแบบโอเพนซอร์ส หรือผลิตภัณฑ์จากอินเทลให้กับเหล่านักพัฒนา”  ทั้งนี้ เหล่านักพัฒนาอาจจะยังไม่ทราบว่าผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในการพัฒนาทั่วโลกของอีแวนส์ ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (Evans Data Corp.) ในปี พ.ศ. 2564 พบว่า กว่า 90% ของจำนวนนักพัฒนาทั่วโลกกำลังใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาหรือปรับแต่งโดยอินเทล  ซึ่งอินเทลได้เป็นผู้สนับสนุนหลักให้แก่ลินุกซ์ เคอร์เนล (Linux kernel) มานานกว่าทศวรรษแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ อินเทลยังได้ช่วยผสานการทำงานด้านประสิทธิภาพของไลบรารี oneDNN เข้ากับ TensorFlow พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นถึง 3 เท่า ให้แก่ผู้คนนับล้านที่ใช้เทคโนโลยี AI ด้วย

ส่งมอบบริการใหม่ ๆ อย่างใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ระยะไกล ผ่านระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น

การผนวกรวมซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส ฮาร์ดแวร์โซลูชัน และความต้องการทางธุรกิจ ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการส่งมอบรูปแบบบริการที่แตกต่าง เช่น โครงการออกใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Prescriptions) ในประเทศเยอรมนี โดยในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นเตรียมเปิดตัวบริการสู่สาธารณะ

IBM ผู้พัฒนาโซลูชันการออกใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และผู้บูรณาการเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของอินเทล (Intel®  Software Guard Extensions หรือ SGX) ร่วมกับ Gramine Project (ระบบปฏิบัติการไลบรารีสำหรับแอปพลิเคชันที่ไม่ได้แก้ไข ดำเนินการโดยโครงการชุมชนโอเพนซอร์สที่ขับเคลื่อนโดยทีมสนับสนุนหลัก) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้า พร้อมรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มและความเป็นส่วนตัวอย่างเข้มงวด จากการที่อินเทลได้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ในโครงการโอเพนซอร์สของ Gramine Project ส่งผลให้หน่วยงานด้านสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติประจำประเทศเยอรมนีไว้วางใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของอินเทล

นอกจากนี้ ยังมี Project Amber ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ของอินเทลและได้เปิดตัวไปในงาน Intel Vision เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Project Amber เป็นบริการ Software-as-a-Service ที่ช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์การประมวลผลในระบบคลาวด์ได้จากระยะไกล และไม่ขึ้นกับผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของเวิร์กโหลดการประมวลผลที่เป็นความลับ ซึ่งบริษัท Leidos หนึ่งในบริษัทผู้รับเหมาด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทดสอบความเป็นไปได้ (a proof-of-concept) กับ Project Amber นี้ ว่าสามารถปกป้องข้อมูลด้านสุขภาพของทหารผ่านศึกในการเข้าถึงการแพทย์จากระยะไกลในอนาคตได้หรือไม่

นางลิซ พอร์เตอร์ ประธานบริษัท Leidos Health Group ได้ร่วมพูดคุยบนเวทีกับ นายลาเวนเดอร์ พร้อมอธิบายว่า “Project Amber ทำให้ Leidos สามารถควบคุมงบประมาณจากการสร้างและบำรุงรักษาระบบการรับรองที่ซับซ้อนและมีราคาสูง ซึ่งช่วยให้เราหันไปเน้นการพัฒนาที่แตกต่างของเราอย่างระบบอัตโนมัติอัจฉริยะและการวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI/ML”

เดินหน้าสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยี AI การประมวลผลแบบควอนตัม การประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบนิวโรมอร์ฟิก และอื่น ๆ ในอนาคต

ข้อดีอีกประการของเทคโนโลยีแบบโอเพนซอร์ส คือ ความสามารถในการผสานโซลูชันมากมายจากผู้จำหน่ายและลูกค้าที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย นายคริส ไรท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ Red Hat ได้ร่วมพูดคุยกับนายลาเวนเดอร์ ผ่านทางวิดีโอคอล พร้อมประกาศว่า “OpenShift Data Science ของ Red Hat นั้นได้ผสานรวมกับพอร์ตโฟลิโอ AI ของอินเทล เพื่อให้นักพัฒนาสามารถฝึกและปรับใช้กับโมเดลได้ด้วยการใช้ AI Analytics Kit และเครื่องมือ OpenVINO ของอินเทล”

บริษัท Red Hat กำลังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิป Habana® Gaudi® สำหรับการใช้งาน “เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมมอบการฝึกฝนและการปรับใช้งานของโมเดลการเรียนรู้เชิงลึก ทั้งหมดนี้จะให้บริการในรูปแบบของการประมวลผลในระบบคลาวด์” นอกจากนี้ นายไรท์ ยังได้ประกาศว่า “โครงการที่ Intel ร่วมกับ Red Hat AI Developer Program มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้นักพัฒนาเรียนรู้ ทดสอบ และปรับใช้โมเดลต่าง ๆ อย่างง่ายดายด้วยการใช้ Red Hat OpenShift Data Science  และกลุ่มผลิตภัณฑ์ AI และ Edge แบบบูรณาการของอินเทล”

สำหรับผู้ที่พร้อมจะเร่งความเร็วและก้าวไปสู่อนาคต ทางอินเทลได้ประกาศเปิดตัว Intel Quantum SDK ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักพัฒนาเรียนรู้ถึงวิธีการตั้งโปรแกรมอัลกอริธึมควอนตัมและนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด โดยเวอร์ชันเบต้าพร้อมให้ใช้งานแล้วผ่าน Intel Developer Cloud

นายลาเวนเดอร์ ยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าสู่การนำกลศาสตร์ควอนตัมมาใช้เสริมความแข็งแกร่งของอัลกอริธึมในการเข้ารหัส (post-quantum cryptography) โดยระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 3 แนวทางของอินเทลที่จะจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดจากคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งได้สรุปไว้ในงาน Intel Vision เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยการพัฒนาล่าสุดสู่มาตรฐานและการเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของโอกาสและความเสี่ยง “ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมของเรา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับY2Q หรือการต้านทานควอนตัมภายในปี 2573 ซึ่งหลายคนเชื่อว่า Y2Q จะมีผลกระทบมากกว่าปัญหา ‘บั๊กมิลเลนเนียล’ เมื่อปี 2543 เสียอีก” นายนายลาเวนเดอร์ กล่าว

เป้าหมายอีกหนึ่งอย่างของอินเทลคือ การนำเทคโนโลยนิวโรมอร์ฟิก (ระบบคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของสมอง) มาใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ อินเทลได้ประกาศการใช้งานเครื่องมือใหม่สำหรับนักพัฒนาในห้องปฏิบัติการ พร้อมนำเสนอระบบแปดชิป (Kapoho Point) และชิป Loihi 2 ซึ่งเป็นชิปวิจัยนิวโรมอร์ฟิก ตลอดจนอัปเดตเฟรมเวิร์กการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเปิดของ Lava และเพิ่มสมาชิกของทีมวิจัย รวมทั้งริเริ่มโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งหมด 8 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากอินเทลในชุมชนการวิจัยของอินเทลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวโรมอร์ฟิก (INRC)

วิธีการที่ทำให้อินเทลสามารถบ่มเพาะนวัตกรรมของโลกอนาคตมาอย่างยาวนานคือ ผ่านระบบการศึกษาและการจับมือเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาหลากหลายแห่ง โดยวันนี้ ทางอินเทลได้ทำการมอบรางวัล Intel® Rising Star Faculty Award programให้แก่นักศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพและมีแนวคิดด้านนวัตกรรมที่เป็นเลิศ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการวิจัยหรือการศึกษาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และคอมพิวเตอร์

โดยผู้ชนะรางวัล Intel® Rising Star Faculty Award ในปีนี้มาจาก 15 สถาบันการศึกษาจากทั่วโลก ซึ่งผู้ที่ชนะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทั้งการวิจัยด้าน AI และควอนตัม แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมวิธีการสอนใหม่ ๆ ตลอดจนการสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของชนกลุ่มน้อยและสตรีเพื่อเสริมสร้างโอกาสในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
ลือ Apple Watch ปีนี้จะมีรุ่นพิเศษ Apple Watch Pro สำหรับรุ่นพิเศษสำหรับสายลุยตัวจริง
“realme GT 2 Pro” มาพร้อมสีใหม่ล่าสุด Paper Green กับราคา Early Bird เพียง 22,990 บาท
Google Maps ปรับหน้าใหม่ เพิ่มหน้า Share Location แบบใหม่เรียกว่า Share UI

Leave Your Reply

*