แคสเปอร์สกี้พบตัวเลขนักช้อปออนไลน์วัยเยาว์เพิ่มสูง – เข้าดูเว็บเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ลดลง

จากรายงานโดยเทคโนโลยี Kaspersky Safe Kids ของแคสเปอร์สกี้ ในปี 2019 พบว่าเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อดูหนังฟังเพลงและดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ต่างๆ มากขึ้น และใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อความลดลง อีกทั้งพบว่าเด็กในภูมิภาคนี้จำนวนมากใช้ www เพื่อชมทีวีซีรีส์และภาพยนตร์เรื่องโปรดอย่าง Game of Thrones และ Avengers

เมื่อเปรียบเทียบรายงานปี 2018 และ 2019 พบว่ามีอัตราการเติบโตสองหลักในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลงและดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ดังนี้ อินโดนีเซีย เพิ่มจาก 38.72% เป็น 60.33% ฟิลิปปินส์ เพิ่มจาก 25.41% เป็น 49.12% สิงคโปร์ เพิ่มจาก 25.03% เป็น 42.32% ไทย เพิ่มจาก 11.28% เป็น 37.23% และเวียดนาม เพิ่มจาก 27.11% เป็น 50.14% มีเพียงมาเลเซียประเทศเดียวเท่านั้นที่มีอัตราลดลงเล็กน้อยคือ ลดจาก 60.08% เป็น 51.15% แต่ก็ยังเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนในมาเลเซียทำมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง

ในกลุ่มซอฟต์แวร์ วิดีโอและเพลงนี้ ยังรวมถึงการเข้าเว็บไซต์เพื่อดาวน์โหลดไฟล์จำพวกไฟล์ภาพยนตร์ เพลง มิวสิควิดีโอ คลิปบันทึกการแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต คลิปเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมบริการไฟล์แชร์ริ่ง (file sharing) และทอเร็นต์แทรกเกอร์ (torrent tracker) ด้วย

นายโย เซียง เทียง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า 

“ต้องยอมรับว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันเป็นนักท่องอินเทอร์เน็ตดีกว่าผู้ใหญ่มาก ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความรวดเร็วฉับไวในการจับกระแส หรือสร้างออนไลน์เทรนด์ของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญที่ผู้ปกครองต้องรู้นิสัยใจคอและความชอบของบุตรหลานของตน รายงานของเราเปิดเผยว่ากิจกรรมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ วิดีโอและเพลงเป็นกิจกรรมโปรดของเด็กและเยาวชนมากขึ้น เราหวังว่ารายงานของเราจะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจบุตรหลานได้มากขึ้นและปกป้องเด็กจากภัยอันตรายต่างๆ ในโลกดิจิทัล”

ความสนใจกิจกรรมประเภทซอฟต์แวร์ วิดีโอและเพลงนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ตัวเลขโดยรวมพบความนิยมในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และกลุ่มประเทศอาหรับ นอกจากนี้ ยังพบตัวเลขการใช้คอมพิวเตอร์ในการส่งข้อความออนไลน์ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนนิยมใช้งานโมบายดีไวซ์มากกว่าคอมพิวเตอร์

สำหรับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ พบว่ากิจกรรมที่นิยมมาก 3 อันดับแรกคือ 1) ซอฟต์แวร์ วิดีโอและเพลง 2) ส่งข้อความออนไลน์ 3) อีคอมเมิร์ซ

นักช้อปออนไลน์วัยเยาว์เพิ่มสูง – เข้าดูเว็บเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ลดลง

รายงานฉบับเดียวกันนี้ยังแสดงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักช้อปปิ้งออนไลน์ในกลุ่มเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเพิ่มขึ้น 13% เปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน

สิงคโปร์มีจำนวนนักช้อปเยาวชนหรือผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่ออีคอมเมิร์ซมากที่สุดคือ 18.82% (ปีที่แล้ว 5.58%) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 13.21% (ปีที่แล้ว 2.39%) มาเลเซียมีอัตราการเติบโต 8% คือเพิ่มจาก 4.70% เป็น 13.02% ขณะที่อินโดนีเซียและไทยมีอัตราการเติบโตเพียง 4.8% และ 1.62% ตามลำดับ ปิดท้ายด้วยเวียดนามที่มีอัตราลดลงเพียงเล็กน้อย คือ 1.03% เป็น 1.02%

ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซนี้รวมถึงเว็บไซต์สำหรับธุรกรรมการเงินผ่านเว็บแอปพลิเคชั่น ร้านค้าและการประมูลออนไลน์ที่เสนอสินค้าและบริการเพื่อรองรับการจ่ายเงินออนไลน์ และเว็บไซต์ของร้านค้าที่ดำเนินการผ่านอินเทอร์เน็ตและแผนกออนไลน์ของร้านทั่วไปอีกด้วย

รายงานฉบับนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคืออัตราการลดจำนวนลงในการเข้าดูเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ประเทศส่วนใหญ่มีตัวเลขความสนใจเนื้อหาโป๊เปลือยลดลง โดยมาเลเซียมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 0.09 สำหรับภูมิภาคเอเชียโดยรวมแล้วมีตัวเลขลดลงจาก 2.72% เหลือ 2.26% แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น

นายโย เซียง เทียง กล่าวเสริมว่า “น่ายินดีมากที่เห็นว่ามีเด็กและเยาวชนเพียงส่วนน้อยที่สนใจดูเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่สามารถบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นได้ดี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความสนใจในกลุ่มอีคอมเมิร์ซเรื่องออนไลน์ช้อปปิ้งนั้นผู้ปกครองจำเป็นต้องแนะนำบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ความเสี่ยงของอีคอมเมิร์ซมีมากมาย เช่น ผู้ขายปลอม สินค้าปลอม เว็บไซต์ที่มีมัลแวร์ ช่องทางการชำระเงินที่ถูกรุกล้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินของครอบครัวได้”

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองยุคดิจิทัล

แม้เด็กจะฉลาดแต่ก็มักไม่เฉลียวใจต่อภัยคุกคามออนไลน์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากอันตรายในอินเทอร์เน็ต แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำดังนี้

สื่อสาร – พูดคุย รับฟัง เป็นที่ปรึกษา ผู้ปกครองสามารถสอนบุตรหลานว่าสิ่งไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ และควรทำให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะมาบอกกล่าวเมื่อเกิดเรื่อง เพราะเด็กก็คือเด็ก ที่มักจะวุ่ยวายและพลาดพลั้งได้

คุยเรื่องเทคโนโลยี – พูดคุยเรื่องเทคโนโลยีเป็นประจำ แม้ว่าบางครั้งผู้ปกครองจะต้องแกล้งไม่รู้ว่าจะตั้งค่า Snapchat, Tumblr หรือ Facebook ยังไง ซึ่งเป็นวิธีสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนี้ผู้ปกครองยังสามารถแทรกสอนเรื่องภัยไซเบอร์หรือข่าวข้อมูลรั่วขณะพูดคุยได้ด้วย

กำหนดขอบเขต – ตั้งข้อกำหนดให้บุตรหลานเข้าใจตรงกันว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ และพูดคุยให้เด็กรู้ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากไปในที่ไม่ควรไป หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม

หาข้อมูลสอนตัวเอง – หาข้อมูลเรื่องที่เด็กและเยาวชนสนใจ รวมถึงภัยออนไลน์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ใช้ทรัพยากรที่มีให้บริการ – บริษัทหรือองค์กรบางแห่งมีข้อมูลที่จะช่วยแนะนำวิธีการดูแลเด็กและเยาวชนยุคดิจิทัล เทคโนโลยีอย่างเช่น Kaspersky Safe Kids จะช่วยให้ผู้ปกครองปกป้องบุตรหลานจากผู้ไม่หวังดี เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งตามหาโทรศัพท์ที่หายหรือถูกขโมยได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะอยู่ในโซลูชั่นต่างๆ ของแคสเปอร์สกี้ เช่น Kaspersky Internet Security, Kaspersky Total Security และ Kaspersky Security for Cloud

 

SHARE
คนเล่าเรื่องไอที ที่เชื่อว่าการได้เดินทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนในสายงานต่าง ที่ไม่คุ้นเคยคือกำไรชีวิต...หลงไหลในการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอเจ้าหน้าที่ ตม.
RELATED POSTS
คำแถลงการณ์ของแคสเปอร์สกี้ต่อเหตุการณ์บัญชีโซเชียลถูกแฮ็กล่าสุด พร้อมคำแนะนำ
มาสักที! Apple TV+ ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์อย่างเป็นทางการของ “The Mosquito Coast”
หลุดภาพสิทธิบัตร Galaxy Z Flip รุ่นถัดไป จะมีกล้องหลัง 3 ตัวจอนอกใหญ่ขึ้น

Leave Your Reply

*